วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเภทของกฎหมาย





กฎหมายที่บังคับใช้ในบ้านเรามีอยู่หลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีฐานะการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน ในการปกครองของไทยจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการบังคับใช้ ที่ว่าเป็นกฎหมายสูงสุดก็เพราะว่าจะไม่สามารถออกกฎหมายใดที่จะออกมาขัดหรือ แย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ หากมีกฎหมายใดๆก็ตามที่ออกมาโดยมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายฉบับนั้นจะใช้บังคับไม่ได้เลย ในตัวของกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นการบัญญัติไว้ในเรื่องต่างที่มีลักษณะ กว้างๆ ไม่ว่าจะเป็น

เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รูปแบบของการปกครองเช่นกำหนดให้มีคณะรัฐบาลเป็นผู้บริหารประเทศ กำหนดให้มีสมาชิก 2 ประเภทคือสมาชิกวุฒิสภากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น แต่ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องใดนั้น รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ออกเป็นกฎหมายอื่นเฉพาะเรื่อง เช่น กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น

ประเภทของกฎหมาย

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติ
3. พระราชกำหนด
4. พระราชกฤษฎีกา
5. กฎกระทรวง

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ มีการพิจารณากัน 3 วาระ สำหรับการยกเลิกหรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในตัวรัฐธรรมนูญเองจะกำหนดวิธีการยกเลิก หรือแก้ไขที่ยากกว่าการออกพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการแก้ไขบ่อยนัก การแก้ไขหรือการที่จะออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจึงต้องเป็นเรื่องที่จำเป็น จริง

2. พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ มีการพิจารณากัน 3 วาระเช่นเดียวกัน การยกเลิกหรือแก้ไขสามารถกระทำได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ

3. พระราชกำหนด มีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ แต่การออกพระราชกำหนดจะมีวิธีที่แตกต่างจากพระราชบัญญัติคือ พระราชกำหนดจะออกโดยคณะรัฐมนตรี การที่จะออกพระราชกำหนดได้จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ เท่านั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย ซึ่งจะต่างกับพระราชบัญญัติตรงที่พระราชบัญญัติกว่าจะออกมาบังคับใช้ได้ก็ ต้องใช้เวลานาน ต้องผ่านการพิจารณาถึง 3 วาระ แต่พระราชกำหนดเพียงแค่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็สามารถใช้บังคับได้แล้ว เพียงแต่ว่าพระราชกำหนดนั้น เมื่อออกมาแล้วหากอยู่ในสมัยประชุมของสภา คณะรัฐมนตรีก็จะต้องนำพระราชกำหนดเข้าสู่สภาเพื่อขอความเห็นชอบทันที แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสมัยประชุมของสภา คณะรัฐมนตรีก็จะต้องนำพระราชกำหนดเข้าสู่สภาเพื่อให้สภาเห็นชอบทันทีที่เปิด สมัยประชุม และเมื่อนำเข้าสู่สภาแล้ว หากสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดนั้นก็ใช้บังคับได้ต่อไปเหมือนกับพระราชบัญญัติ แต่หากสภาไม่ให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดนั้นก็จะตกไปไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อ ไป แต่จะไม่กระทบกระเทือนสิ่งที่ได้ทำไปแล้วตามที่พระราชกำหนดนั้นบัญญัติไว้

4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีฐานะการบังคับใช้ที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด การออกพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีกฎหมายประเภทพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาไม่สามารถออกได้เองโดยลำพัง ผู้ที่ออกพระราชกฤษฎีกาคือคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็สามารถใช้บังคับได้เลย ไม่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีก

5. กฎกระทรวง มีฐานะที่รองลงมาจากพระราชกฤษฎีกาอีกทีหนึ่ง ผู้ที่ออกกฎกระทรวงก็คือรัฐมนตรีผู้ที่ดูแลกระทรวงนั้น การออกจะต้องออกโดยมีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดให้อำนาจไว้ เมื่อออกแล้วสามารถใช้บังคับได้ทันที

สำหรับ ประกาศคณะปฏิวัติ นั้น จะมีฐานะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ แต่การออกจะออกโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติซึ่งกุมอำนาจในขณะนั้น และจะมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอดไปจนกว่าจะมีการยกเลิก การยกเลิกนั้นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติยกเลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น